คลังบทความของบล็อก

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เกี่ยวกับกาแฟโฆษณาสรรพคุณลดความอ้วน

เกี่ยวกับกาแฟโฆษณาสรรพคุณลดความอ้วน ภก.ดร.วิรัตน์ ทอง รอด ประชาสัมพันธ์สภาเภสัชกรรม ตอบเรื่องนี้ไว้ในนิตยสารหมอชาวบ้าน สรุปความว่า จากกระแสสังคม 2 ประการ ได้แก่ 1.หุ่นผอม เพรียวลม และ 2.บริโภคนิยม ทำให้เกิดแรงกดดันในสังคมที่ต้องการความผอมเป็นสรณะ เกิดความต้องการ หรืออุปสงค์ ต่อความผอมหุ่นดีเป็นจำนวนมหาศาล ที่เฝ้ารอคอยความหวังว่าเมื่อใดจะมียาดีหรือของวิเศษที่จะช่วยตอบสนองเติมเต็มความอยากผอม อยากสเลนเดอร์เหมือนนางแบบ เหมือนดารา

สำหรับกาแฟลดความอ้วนที่ส่วนใหญ่โฆษณาด้วยการขายตรงแบบปากต่อปาก หรือโฆษณาแอบแฝงตามสื่อมวลชนที่ไม่ได้พูดตรงๆ แต่ใช้กิจกรรมหรือท่าทางสื่อสารให้เข้าใจว่ากาแฟนั้นช่วยลดความอ้วนได้ โดยผลิตภัณฑ์กาแฟจำนวนมากอ้างว่าได้เพิ่มเติมสารอาหารดีๆ บางอย่างที่ช่วยให้ลดความอ้วน เช่น ไฟเบอร์ ช่วยเพิ่มกากอาหารในอุจจาระ, คอลลาเจน ที่พบได้ในเนื้อสัตว์ และจะถูกย่อยเป็นโปรตีนขนาดเล็ก ก่อนถูกดูดซึมเหมือนโปรตีนทั่ว ไป หรือ แอล-คาร์นิทีนและโครเมียม (ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก) เป็น ต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการอวดอ้าง โฆษณาเกินจริงทั้งสิ้น เพราะยังไม่มีหลัก ฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าสารเหล่านี้มีคุณสมบัติลดความอ้วนได้

อีกเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ คือเครื่องหมาย "อย." ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ทั้งที่การได้เครื่องหมาย อย. นั้น หมายความว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ไม่ใช่ยา) และรับรองว่าได้ผ่านการผลิตตามหลักการผลิตที่ดีแล้ว คือผลิตมาอย่างมีสุข ลักษณะ เป็นการควบคุมขั้นตอนการผลิตเท่านั้น ไม่ได้รับรองสรรพคุณเหมือนหรือเทียบเท่ากับยาที่สามารถลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน ดังที่โฆษณาหรือแอบอ้าง

ทั้งนี้ เคยมีรายงานข่าวว่า อย.เคยเข้าจับกุมผลิตภัณฑ์กาแฟที่เติมยาลดความอ้วน ลงไปผสม และเมื่อนำไปตรวจพบว่าเป็น ยาไซบูทรามิน (sibutramine) ซึ่งเป็นยาลดความอ้วนที่มีอันตรายสูง ในทางกฎหมายจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่จะต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไป ผลข้างเคียงของยาไซบูทรามินที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ที่สำคัญห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรด้วย

นอกจากนี้ มีบทความทางการแพทย์รายงานว่า เครื่องดื่มมีส่วนสำคัญถึงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรือครึ่งหนึ่งของความอ้วนเกิดจากเครื่องดื่ม โดยปัจจุบันมีเครื่องดื่มหลากหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่เป็นชา สมุนไพร กาแฟ ฯลฯ ซึ่งมีการปรุงสี กลิ่นและรสให้น่ากิน และในจำนวนนั้นก็มีน้ำตาลที่ช่วยให้หวาน หรือครีมที่ช่วยให้เข้มข้นน่ากิน ทั้งน้ำตาลและครีมตลอดจนสารปรุงแต่งอื่นๆ ที่มีอยู่ในเครื่องดื่ม ล้วนเป็นต้นเหตุถึงครึ่งหนึ่งของความอ้วนของมนุษย์

สรุปว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเครื่องหมาย อย. ไม่ได้หมายความว่ามีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ และย้ำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น กาแฟ ถึงแม้จะผสมสารอาหารใดๆ ก็ตาม ก็ไม่มีคุณสมบัติในการลดความอ้วนได้ ตรงกันข้าม อาจทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพ ถ้าบริโภคมากเกินไปหรือไม่เหมาะสม อาจต้องทนทุกข์กับผลข้างเคียงของยาอันตรายที่ลักลอบเติมมาในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย และบางครั้งอันตรายถึงชีวิต การเลือกผลิตภัณฑ์จึงควรอ่านฉลากให้ชัดเจน ใช้วิจารณญาณด้วยความรอบคอบ อย่าเชื่อคำกล่าวอ้างของผู้ขายหรือโฆษณาที่เกินความจริง ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต


ขอบคุณ นสพ ข่าวสด http://www.khaosod.co.th