คลังบทความของบล็อก

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ภาพย้อนอดีตชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี พระปรางค์สามยอด



ภาพครั้ง 4 ปีผ่านมาเห็นจะได้..กลับเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยและได้มีโอกาสกลับไปถิ่นเก่าที่เราเคยเคยอาศัยที่ลพบุรี แวะเยี่ยมเพื่อนที่ทำงานอยู่ที่ว่าการที่ดินลพบุรีด้วย จำได้ว่าครั้งนั้นเราเก็บภาพมาเยอะมากๆ...ก็จะพยายามเก็บสาระสำคัญๆมาเล่าใหม่อีกหนึ่ง....อธิบายก่อนนิดนึงว่า... ภาพเหล่านี้เราเคยลงไว้ในบล็อกแก๊งของพันทิพย์..พอดีว่าเราปรับปรุงบล็อก..ต้องลบภาพออก...เราเลยย้ายบางส่วนมาที่นี่...

สถานีรภไฟ...คลิกภาพชมขนาดจริง...


ภาพภายในบริเวณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี


พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
เป็นพระปรางค์ทรงกลับบัวที่สวยที่สุด..ไม่แน่ใจว่าจะมีที่อื่นที่เป็นโบราณสถานแบบเดียวกันมีสวยกว่าที่นี่หรือหรือเปล่า

อดีตที่หลงเหลืออยู่

สองภาพ..มองตรงหน้าต่าง...เห็นเจดีย์ สองรูปที่ต่างกัน...ภาพบนเจดีย์ภายนอกหน้าต่างไม่สมบูรณ์ส่วนภาพนี้เจดีย์(สถุป)ดูสมบูรณ์กว่า

จำได้ว่าตอนที่เดินชอบบริเวณโบราณสถานที่นี่เป็นเวลาบ่ายราว 4โมงเย็น
บรรยากาศ..คล้ายๆกับราวว่าเรามาเยี่ยมบ้านเยี่ยมญาติที่จากกันมานานบางช่วงเกิดขนลุกแต่ใช่ว่าจะกลัวนะคือเหมือนพวกญาติของเรา(สมัย พ.ศ  1500)ข้อมูลจากวิกิพีเดียกล่าวไว้ดังนี้คือ...

ประวัติศาสตร์..เมืองลพบุรี

พื้นที่ของจังหวัดลพบุรี เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายสมัย เดิมเรียก ละโว้ นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ มีหลักฐานที่สำคัญคือ พระปรางค์สามยอด (อยู่ในเขตอำเภอเมืองลพบุรี) เป็นศิลปะเขมรสมัยบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 และมีศาลพระกาฬซึ่งเก่าแก่ในสมัยเดียวกัน
คำว่า "ละโว้" นี้น่าสัณนิษฐานได้ว่ามาจากคำว่า ลวะ นั่นเอง (ลวบุรี กลายมาเป็น ลพบุรี ในทุกวันนี้) ซึ่งคำว่า ลวะ ในภาษาสันสกฤตแปลว่า น้ำ[ต้องการอ้างอิง] (ซึ่งอาจหมายความถึงว่าเมืองนี้มีน้ำมาก) เมื่อนำเอามาสมาสกับคำว่า อุทัย (ลว + อุทัย) ก็กลายเป็นลโวทัย (ดังเช่น สุข + อุทัย กลายเป็น สุโขทัย) ซึ่งคำจารึก "ลโวทัยปุระ" ยังพบปรากฏบนเหรียญเงินโบราณที่ขุดค้นได้ที่บริเวณจังหวัดลพบุรีอีกด้วย[ต้องการอ้างอิง] แต่บ้างก็ว่าคำว่า ละโว้ มาจากภาษามอญซึ่งแปลว่าภูเขา คงเนื่องเพราะเมืองนี้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา

ลพบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ติดต่อกันนานนับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ปีมาแล้ว จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก รวมทั้งมีหลักฐานเอกสารและจารึกต่าง ๆ กล่าวถึงเมืองลพบุรีอยู่หลายชิ้นเช่นในพุทธศตวรรษที่ 11-15 มีหลักฐานคือพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงพระยากาฬวรรรณดิศได้ให้พราหมณ์ยกพลมาสร้างเมืองละโว้ตั้งแต่ พ.ศ. 1002 นอกจากนี้ยังมีตำนานชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญไชยใน พ.ศ. 1204 ต่อมาอีก 2 ปี คือ พ.ศ. 1206 ได้ส่งทูตล่องลำน้ำปิงไปเมืองลวปุระทูลขอเชื้อสายกษัตริย์ลวปุระให้ไปปกครอง กษัตริย์ลวปุระจึงได้พระราชทานพระนางจามเทวี พระราชธิดา ให้ไปครองเมืองหริภุญไชย ทรงสร้างวัดจามเทวีที่เมืองหริภุญไชย ชื่อเมืองลวปุระในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เป็นที่ยอมรับว่าคือเมืองลพบุรีในปัจจุบัน จึงสรุปได้ว่าลพบุรีคงเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง แว่นแคว้นอื่นจึงได้ยอมรับและขอเชื้อสายไปปกครอง


ในระยะราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ละโว้หรือลพบุรีตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการของอาณาจักรเขมรเป็นครั้งคราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เกิดความอ่อนแอในอาณาจักรเขมรทำให้รัฐต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจปลีกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งละโว้ด้วย ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏหลักฐานว่าเมืองลพบุรี น่าจะเป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทองเคยครองราชย์มาก่อนที่จะย้ายไปสถาปนาอาณาจักรอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้เองที่ลพบุรีเจริญรุ่งเรืองที่สุด เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) ได้สถาปนาลพบุรีเป็นราชธานีที่สอง หลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วลพบุรีขาดความสำคัญลงมากจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดสถาปนาเมืองลพบุรีเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าเมืองลพบุรีมีความสำคัญติดต่อกันมายาวนานนับพันปี

ลั่นทม(ลีลาวดี)ต้นใหญ่อยู่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุ ลบบุรี

เป็นภาพภายในวิหารหลวง...

วิหารหลวงสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดในตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เมื่อเข้าไปในบริเวณวัด จะพบศาลาเปลื้องเครื่องเป็นอันดับแรก ศาลาเปลื้องเครื่องนี้ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่องเป็นวิหารหลวง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นวิหารขนาดใหญ่มาก ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย ห น้าต่างเจาะช่องแบบโกธิคของฝรั่งเศส ภายในสร้างฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป ทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวงเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ ที่ลายปูนปั้นหน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนา นิกายมหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างามมาก เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และ สมเด็จพระนารายณ์ ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก อีกสิ่งหนึ่งที่สมควรจะกล่าวถึงคือปรางค์รายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้นเป็นรูป เทพพนมหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาดูได้ยากในเมืองไทย


วัดมหาธาตุ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนพุทธาวาส และสังฆาวาส ซึ่งส่วนหลังนี้ถูกบุกรุกไปหมดแล้วคงเหลือพื้นที่ส่วนพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ มีถนนตัดรอบวัด ไม่ได้เข้าไปชมวิ่งรถวนชมรอบ ๆ วัดก็ได้เมื่อผ่านประตูเข้าไปจะเห็น ดังนี้ พระอุโบสถ มีขนาดใหญ่โตมากและเหลือแต่ผนังทั้ง ๔ ด้าน แต่ก็ไม่สมบูรร์นักกับกองพระพุทธรูปที่หัก ๆ ทางซ้ายของพระอุโบสถมี "ศาลาเปลื้องเครื่อง" ซึ่งสันนิษฐานว่า คงสร้างขึ้นภายหลัง เชื่อว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ฯ จะมาประกอบพิธีทางศาสนาคงจะต้องมาเปลื้องเครื่องทรงที่ศาลาหลังนี้ศาลาเปลื้องเครื่อง อยู่ติดกับวิหารเล็ก ๆ แต่ปิดประตูใส่กุญแจไว้ มีพระพุทธไสยาสน์ประทับอยู่มองเห็น

ด้านหลังพระอุโบสถคือ พระปรางค์ซึ่งพระปรางค์เป็นพระปรางค์องค์เดียวโดด ๆ ไม่ใช่เรียงกันสามองค์เช่น พระปรางค์สามยอดแต่เชื่อว่าสร้างในรุ่นเดียวกัน คือ ระหว่าง พ.ศ. 1500 - 1800 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและได้ชื่อว่ามีลวดลายปูนปั้นงามเป็นเลิศ แต่น่าเสียดายในการบูรณะทำให้เสียหายไปไม่ใช่น้อยแต่ยังพอหลงเหลือให้ชมความงามคือทางซ้ายหรือทางใต้ของพระปรางค์ เงยหน้ามองสูงสักหน่อย ที่หน้าบันจะเห็นภาพพระอมิตาประทับบนดอกบัวมีก้านในสวรรค์สุขาวดี ตามคติพุทธมหายาน ลายปูนปั้นที่หน้ากระดานแถวบนสุด เป็นลายกระหนกที่รับอิทธิพลขอมศิลปะสมัยละโว้ ลายปูนปั้น มกรคายนาคหน้าบันซุ้มโคปุระ หรือซุ้มหน้าของปรางค์ประธาน เป็นศิลปะละโว้ กับอโยธยา วิหารหลวง อยู่ทางขวาของพระอุโบสถ เข้าใจว่าปฏิสังขรณ์จนกลายแบบไปแล้ว เดิมประตูเป็นศิลปะไทยแต่หน้าต่างนั้นเป็นศิลปะแบบโกธิค ของฝรั่งเศสแสดงว่าสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เจดีย์รายอยู่รอบพระปรางค์ใกล้ชิดกำแพงวัด หลายองค์ยังมีภาพลวดลายปูนปั้นที่งดงามอยู่ วิหารคด ยังมีสภาพที่ดีเหลือให้ชมมาบรรจบกันที่ท้ายวิหารหลวง.....ขอบคุณจ้อมูล..วิกิพีเดีย


เป็นภาพที่เรานำมาจากบล็อกแก๊ง...เนืองจากว่า..เราต้องกราปรับปรุงบล็อกของเราที่นั้นและต้องบลภาพทั้งหมดที่ไม่ต้องกราออก(ล้างใหม่)ที่นี่บางภาพเป็นเรื่องที่ส-คัญน่าเก็บไว้..เลยนำมาลงไว้ที่นี่...

พระปรางค์สามยอด.........

ภูมิประเทศ.....

ภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
ที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ 1,170 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ของอำเภอท่าวุ้งทั้งหมด ตอนกลาง และตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโคกสำโรง และส่วนใหญ่ของอำเภอบ้านหมี่ พื้นที่ราบตอนกลางของอำเภอเมืองลพบุรี บริเวณหมู่บ้านสะพานอิฐ และหมู่บ้านหินสองก้อนจะมีดินสีขาวที่สามารถนำมาทำดินสอพองได้ และดินสอพองของจังหวัดลพบุรีได้ชื่อว่าเป็นดินสอพองที่ดีที่สุดของเมืองไทย
ที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีเนื้อที่ 4,816.67 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านหมี่บางส่วน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกของอำเภอโคกสำโรงและอำเภอท่าหลวง


ลิงลพบุรี ที่มีจำนวนมากบริเวณพระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง ลพบุรีจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองลิง


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ
มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน นั่นคือ แม่น้ำป่าสัก โดยมีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังมี แม่น้ำลพบุรีผ่านทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดด้วย รวมทั้งมีระบบคลองชลประทานที่เป็นประโยชน์ในทางเกษตรกรรมอีกด้วย
หากว่าท่านรถไฟจากเหนือลงกรุงเทพฯหรือจากกรุงเทพฯไปเหนือ..จะเห็นพระปรางค์หลังนี้...ภาพที่เจอรกร้างพอควร...

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

 สถานีรถไฟลพบุรี เป็นสถานีรถไฟระดับ 1 อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพเป็นระยะทาง 132.81 กิโลเมตร [1] ตั้งอยู่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
หมายเหตุ ที่สถานีลพบุรี เป็นเขตสิ้นสุดทางคู่(กรุงเทพ-ชท.บ้านภาชี-ลพบุรี) เริ่มทางเดี่ยว(ลพบุรี-เชียงใหม่)


ภาพบริเวณวัดพรศรีฯ
วิหารหลวงสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


วิหารหลวงสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช






พระปรางค์สามยอด
พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทเขมรในศิลปะบายน (พ.ศ. 1720 - 1773) โครงสร้างเป็นศิลาแลงประดับปูนปั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชา แต่เดิมภายในปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ปราสาททิศใต้ประดิษฐานรูปพระโลเกศวร (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) สี่กร และปราสาททิศเหนือประดิษฐานรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสองกร


สถานที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ

ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ เป็นปราสาทศิลาแลงแบบเขมรเรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน ภายในบริเวณนอกจากปราสาททั้ง 3 องค์นี้แล้ว ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานมีการต่อเติมวิหารก่ออิฐถือปูนเชื่อมต่อกับปราสาทประธานเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199 -2231)

ประวัติ.....กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 904 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 และได้กำหนดเขตที่ดินให้มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 2งาน 54 ตารางวา ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 119 ง ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2545


ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

เป็นปราสาทขอม 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน (อันตรละ) โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปราสาทประธานมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ โครงสร้างของปราสาททำจากศิลาแลงฉาบปูน มีการประดับประดาตามส่วนต่างๆ ของปราสาทด้วยปูนปั้น อันเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) ที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เช่น ปรางค์พรหมทัตที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประดิษฐานพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ที่สร้างเป็นปราสาทศิลาแลง 3 องค์เรียงกันในลักษณะเดียวกับพระปรางค์สามยอด และปรางค์องค์กลางของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น


ลวดลายประดับ

ส่วนยอดหรือศิขระ สร้างด้วยหินทรายเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดลงมาเป็นการยกเก็จสามเก็จตรงด้านและมุมประดับด้วยกลีบขนุนทำจากศิลาแลง และบางส่วนทำจากปูนปั้นเป็นรูปบุคคลยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนที่ยกเก็จชั้นที่ 4 เดิมทั้ง 4 ทิศ จะมีการปั้นเทพประจำทิศอยู่ในกลีบขนุนและตอนล่าง ได้แก่ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประจำทิศตะวันออก พระวรุณทรงหงส์ ประจำทิศตะวันตก ท้าวกุเวรทรงมกร ทิศเหนือ และ พระยมทรงกระบือ ทิศใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วน สันหลังคาของมุขกระสันประดับด้วยบราลีศิลาแลงปั้นเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเสียหายทั้งหมด
บัวรัดเกล้าเรือนธาตุ
มีการประดับลวดลายปูนปั้นประกอบไปด้วย แถวบนสุดเป็นลายดอกไม้กลม ถัดลงมาปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย แถวถัดลงมาเป็นลายดอกซีกดอกซ้อน รูปหงส์ ลายกลีบบัวหงาย ลายก้านขด และดอกบัวตูม เรียงเป็นแถว ลวดลายละ 1 แถวรวมเป็น 3 แถว จบด้วยลายกรวยเชิงเป็นรูปเกียรติมุข (หน้ากาล) คายเฟื่องอุบะ
ตอนกลางของเรือนธาตุ
มีลายปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขดที่แถวบนสุด ถัดลงมาเป็นบัวฟันยักษ์คว่ำ หน้ากระดานเป็นลายกระจังประกอบกันเป็นลายกากบาทแทรกด้วยลายประจำยามลายเล็กและลายดอกซีกดอกซ้อน ถัดลงมาเป็นลายกลีบบัวหงาย ลายกระหนกวงโค้ง ลายดอกบัว ตอนล่างสุดเป็นลายกรวยเชิงตามลำดับ
บัวเชิงเรือนธาตุ
ด้านบนสุดเป็นรูปใบหน้าของชาวจามที่เป็นศัตรูกับชาวเขมรที่ถูกประดิษฐ์เป็นใบหน้าของยักษ์ประกอบกับลายกรวยเชิง อันเป็นที่นิยมมากในศิลปะแบบบายนของกัมพูชา ถัดลงมาเป็นลายดอกบัว สันลูกแก้วอกไก่เป็นลายรักร้อย และบัวฟันยักษ์คว่ำ ลายก้านขด และดอกซีกดอกซ้อน ลายละหนึ่งแถวตามลำดับ
ในส่วนของลวดลายหน้าบันและทับหลังนั้นปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการปั้นปูนประดับลงบนศิลาแลงเมื่อเวลาผ่านไปรูอากาศของศิลาแลงจะมีการขยายตัวทำให้ลวยลายปูนที่ปั้นประดับอยู่นั้นกะเทาะออกมารวมถึงลิงที่มาอาศัยก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ในสมัยอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และดัดแปลงพระปรางค์สามยอดเพื่อใช้เป็นพุทธศาสนสถานอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการซ่อมแซมส่วนที่เป็นเพดาน โดยยังคงเห็นร่อยรอยของการปิดทองเป็นรูปดาวเพดาน และการสร้างฐานภายในพระปรางค์สามยอดหลายฐานลักษณะคล้ายกับฐานชุกชีด้วยอิฐ อันเป็นวัสดุที่แตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของพระปรางค์สามยอดซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลาแลง

รูปเคารพในพระปรางค์สามยอด

ปัจจุบันไม่พบหลักฐานรูปเคารพประธานในพระปรางค์สามยอด พบเพียงฐานสนานโทรณิที่ใช้เป็นแท่นรองสรง แต่จากรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาท 3 องค์ที่พบภายในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่นิยมเรียกกันว่า "พระพิมพ์รัตนตรัยมหายาน" ทำให้ทราบว่า แต่เดิมภายในปราสาทประธานของพระปรางค์สามยอดคงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง พระโลเกศวรสี่กรในปราสาททิศใต้ และพระนางปรัชญาปารมิตาในปราสาททิศเหนือ เช่นเดียวกับที่ปรากฏในพระพิมพ์ โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นภายใต้คติความเชื่อพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานจากกัมพูชา

สำหรับพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ได้แก่ พระอาทิพุทธะ หรือพระมหาไวโรจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 6 ของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่จารึกของกัมพูชาเรียกว่า พระวัชรสัตว์[4] ในศิลปะเขมรนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรก ส่วนพระโลเกศวรอันเป็นพระนามที่ปรากฏในจารึกของกัมพูชาใช้เรียกพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงเป็นบุคลาธิษฐานของความเมตตากรุณาและสัญลักษณ์ของอุบาย (อุปายะ) และพระนางปรัชญาปารมิตา เทวนารีผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาอันล้ำเลิศบุคลาธิษฐานของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร รูปเคารพทั้ง 3 นี้นิยมสร้างในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน โดยประกอบกันเป็นความหมายเชิงพุทธปรัชญาของลัทธิวัชรยาน กล่าวคือ พระโลเกศวรทรงเป็นตัวแทนของอุบาย หรือวิธีการอันแนบเนียนซึ่งใช้ไขเข้าสู่ปราชฺญา หรือปัญญาที่มีพระนางปรัชญาปารมิตาเป็นสัญลักษณ์ อันจะนำไปสู่การบรรลุพุทธสภาวะหรือศูนฺยตา ซึ่งแทนด้วยพระวัชรสัตว์นาคปรก
สำหรับรูปเคารพอื่นๆ ที่พบในพระปรางค์สามยอดนั้น ส่วนมากเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งกรมศิลปากรได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี


วิหารหน้าพระปรางค์สามยอด

เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพของวิหารคงเหลือเพียงผนังทั้ง 2 ข้างและผนังหุ้มกลองทางด้านทิศตะวันออก ส่วนเครื่องบนพังทลายไปหมดแล้ว ประตูของผนังหุ้มกลองด้านทิศตะวันออกก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ช (arch) แบบตะวันตก ส่วนประตูทางเข้าที่ผนังด้านข้างของวิหารและหน้าต่างที่ผนังด้านหลังของวิหารก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งกลีบบัว (pointed arch) แบบศิลปะอิสลาม ป้จจุบันเหลือเพียงซุ้มหน้าต่างด้านทิศเหนือเท่านั้น โครงสร้างผนังของก่ออิฐหนาทึบสลับกับศิลาแลงบางส่วน อันเป็นเทคนิคที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่นเดียวกับกับอาคารที่สร้างขึ้นรัชสมัยนี้ที่นิยมก่อสร้างด้วยอิฐแทรกด้วยศิลาแลงเป็นชั้นๆ เช่น พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ในพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอาคารหลายหลังในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ด้านหลังของวิหารยกเก็จเป็นกะเปาะเชื่อมต่อกับประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ซึ่งการยกเก็จเป็นกะเปาะนี้เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวิหารซึ่งนิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เช่น พระที่นั่งจันทรพิศาล ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ และวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ทำจากศิลา


อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด

อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด พิจารณาจากรูปแบบการก่อสร้างที่ใช้ศิลาแลงเป็นโครงสร้าง พอกด้วยปูน และประดับด้วยลวดลายปูนปั้น อันเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในศิลปะบายนของกัมพูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และยังสอดคล้องกับรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาทสามยอด ที่ภายในแต่ละยอดประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรก พระโลเกศวรสี่กร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่เคยประดิษฐานภายในปราสาททั้ง 3 หลังของพระปรางค์สามยอดด้วย โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา จากเหตุผลดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่าพระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ที่ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1724 ถึงประมาณ 1757
ส่วนวิหารด้านหน้าของพระปรางค์สามยอดคงสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยพิจารณาจากเทคนิคการสร้างซุ้มโค้งของประตูและหน้าต่างที่ก่ออิฐตะแคงเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ช (arch) อันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มนิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังตัวอย่างจากซุ้มโค้งของบ้านวิชาเยนทร์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งสร้างในรัชสมัยดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ผนังของวิหารซึ่งมีการเสริมศิลาแลงเข้าไประหว่างอิฐเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้นก็เป็นเทคนิคที่นิยมในรัชสมัยนี้เช่นเดียวกัน ดังปรากฏในอาคารหลายหลังที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี


อิทธิพลทางด้านศาสนาและการเมือง

จากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้ เพื่อประดิษฐานรูปพระวัชรสัตว์นาคปรก พระโลเกศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่นิยมสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานของกัมพูชาในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พุทธศาสนาลัทธิวัชรยานเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในกัมพูชา เทียบได้กับศาสนาประจำอาณาจักรภายใต้พระราชูปถัมภ์ของพระองค์ ดังจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า หลังทรงครองราชย์ได้ 10 ปี ได้ทรงสร้างเทวรูปทำด้วยทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ และศิลา เพื่อส่งไปพระราชทานยังเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักรของพระองค์เป็นจำนวนถึง 20,400 องค์ และทรงส่งพระชัยพุทธมหานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่องอีก 23 องค์ไว้ตามเมืองใหญ่ ๆ ในอาณาจักร เช่นที่ “ละโว้ทยปุระ” (จังหวัดลพบุรี) “สุวรรณปุระ” (จังหวัดสุพรรณบุรี) “ศัมพูกปัฏฏนะ” (เมืองหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย) “ชยราชบุรี” (จังหวัดราชบุรี) “ชยสิงหบุรี” (เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี) “ชยวัชรบุรี” (จังหวัดเพชรบุรี) ซึ่งในขณะนั้นเมืองละโว้ในรัชสมัยของพระองค์ก็มีศักดิ์เป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชาด้วย ดังปรากฏในจารึกของกัมพูชาว่า เจ้าชายอินทรวรมัน (ต่อมา คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2) พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กับพระนางชัยราชเทวี ทรงครองเมือง “ลโวทย”ต่อมาหลังการล่มสลายของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานในกัมพูชา พระปรางค์สามยอดจึงได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาท ดังเห็นได้จากการสร้างวิหารเชื่อมต่อกับปราสาทประธานในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ในเมืองลพบุรี ในช่วงระยะเวลาที่เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองลพบุรีเกือบตลอดรัชกาล


ขอบคุณข้อมูล จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี