สมเด็จพระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงเสี่ยน (จีน: 孝欽顯; พินอิน: Xiào Qing Xiǎn) หรือ สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่ พระพันปีหลวง (จีน: 慈禧太后; พินอิน: Cíxǐ Tàihòu; เวด-ไจลส์: Tz'u-Hsi T'ai-hou, ฉือสี่ไท่โฮ่ว; อังกฤษ: Empress Dowager Cixi) หรือที่รู้จักกันในประเทศไทยว่า "พระพันปีหลวงฉือสี่" หรือ "ฉือสี่ไท่โฮ่ว" หรือตามสำเนียงฮกเกี้ยนว่า "พระพันปีหลวงซูสี" หรือ "ซูสีไทเฮา" (ประสูติ: 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835; สวรรคต: 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908) ทรงเป็นราชนิกุลชาวแมนจูในประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ชิง โดยเป็นพระราชวงศ์ผู้ปกครองประเทศจีนโดยพฤตินัยถึงสี่สิบเจ็ดปี กับอีกสี่วัน
พระพันปีหลวงฉือสี่ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับเลือกเป็นพระสนมใน สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง และทรงไต่ชั้นอันดับต่าง ๆ ท่ามกลางเหล่าบาทบริจาริกาจำนวนมหาศาล ก่อนจะมีพระประสูติกาลพระราชโอรส ผู้ซึ่งต่อมาเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงเสด็จนฤพาน พระนางทรงก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงทรงตั้ง และพร้อมด้วย พระพันปีหลวงฉืออัน ทั้งสองพระองค์ก็ทรงเถลิงพระราชอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ ก่อนพระพันปีหลวงฉือสี่จะทรงรวบอำนาจการปกครองไว้ที่พระนางเอง และสถาปนาความครอบงำเหนือราชวงศ์ชนิดเกือบเบ็ดเสร็จ ครั้นเมื่อพระราชโอรสสิ้นพระชนม์ลง พระนางก็ทรงตั้งพระราชนัดดาไว้บนพระราชบัลลังก์ เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี่ รัชกาลถัดมา ขณะที่พระนางยังทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ต่อไป ด้วยพระราชหฤทัยอนุรักษนิยม พระพันปีหลวงฉือสี่ทรงปฏิเสธแนวคิดการปฏิรูปบ้านเมืองตามสมัยที่สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี่ทรงนำเสนอ และมีพระราชเสาวนีย์ให้ขังสมเด็จพระจักรพรรดิผู้ทรงพระเยาว์ไว้ยังพระที่นั่งกลางสระน้ำ อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง พระพันปีหลวงฉือสี่ทรงเล็งเห็นความจำเป็นในการปรับปรุงประเทศเป็นขนานใหญ่ พระนางมีพระราชบัญชาเปลี่ยนแปลงสถาบันการปกครองนานัปการ และส่งเสริมแนวคิดปฏิรูปมากหลาย ทว่า การเปลี่ยนแปลงพระราชหฤทัยครั้งนี้นับว่าช้าไป เนื่องจากเมื่อพระพันปีหลวงฉือสี่เสด็จสวรรคตแล้วไม่นาน ราชวงศ์แมนจูและระบอบราชาธิปไตยในจีนก็ถึงกาลสิ้นสุดลง
นักประวัติศาสตร์จากฝ่ายกั๋วหมินตั่งและฝ่ายคอมมิวนิสต์ในจีนซึ่งได้เถลิงอำนาจในประเทศจีนสมัยต่อมานั้น โจมตีพระพันปีหลวงฉือสี่ว่าทรงเป็นทรราชินีและผู้กดขี่ประชาชนที่ต้องรับผิดชอบต่อการล่มสลายของราชวงศ์ชิง ทว่า ในยุคปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ต่างเห็นว่า พระนางทรงเป็นแพะรับบาปในเรื่องที่เกิดนอกเหนือความควบคุมของพระนาง เนื่องจากการจบบทบาทของราชวงศ์ชิงนั้นเกิดขึ้นหลังการสวรรคตแล้ว กับทั้งพระนางทรงเป็นนักปกครองที่หาได้อำมหิตอย่างที่กล่าวขานกันไม่ และยังทรงเป็นนักปฏิรูปที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าการปฏิรูปของพระนางจะสายเกินไปก็ตาม
เมื่อเทียบกันแล้ว พระพันปีหลวงฉือสี่ดำรงพระชนมชีพตั้งแต่ช่วงกลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฏาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของไทย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งมหาจักรวรรดิชิง
ดำรงตำแหน่ง
11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1861 – 8 เมษายน ค.ศ. 1881
(19 ปี 148 วัน)
สมัยก่อนหน้า คณะผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ
(ซู่ชุ่น, ไจ่หยวน, ตวนหวา กับพวก รวมแปดคน)
สมัยถัดไป คณะผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋
(สมเด็จพระพันปีหลวงหลงยู่ กับ เจ้าชายชุนที่ 2)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835
เสียชีวิต 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 (72 ปี 352 วัน)
พระที่นั่งจงหนันไห่ ปักกิ่ง จักรวรรดิชิง
คู่สมรส สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง
ศาสนา พุทธศาสนา
พระชนม์ชีพในช่วงต้น
ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติพงศ์และขณะทรงพระเยาว์ของพระพันปีหลวงฉือสี่ ถึงแม้จะมีอยู่มากมายแต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด กับทั้งส่วนใหญ่เป็นแต่มุขปาฐะและปรัมปรา หาข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยันได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี ในหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติส่วนใหญ่มักอ้างว่า ทรงเป็นธิดาในข้าราชการแมนจูระดับล่างชื่อ "หุ้ยเจิง" (จีน: 惠征; พินอิน: Huì Zhēng) กับภรรยาเอก ทั้งนี้ สกุลของพระชนกว่า "เย่เฮ่อน่าลา" (จีนตัวเต็ม: 葉赫那拉; จีนตัวย่อ: 叶赫那拉; พินอิน: Yèhè Nàlā) ของพระชนนีว่า "ฟู่ฉา" (จีน: 富察; พินอิน: Fùchá) นายเอ็ดเวิร์ด แบร์ (อังกฤษ: Edward Behr) นักประวัติศาสตร์จีน สันนิษฐานว่า พระพันปีหลวงฉือสี่มีพระประสูติกาลใน ค.ศ. 1835 โดยมีพระนามแต่แรกเกิดว่า "หลันเอ๋อร์" (จีนตัวเต็ม: 蘭兒; จีนตัวย่อ: 兰儿; พินอิน: Lán'ér นางกล้วยไม้น้อย) โดยสันนิษฐานจากการที่ผู้สืบสันดานจากพระเชษฐาของพระพันปีหลวงฉือสี่ คือ "เกินเจิง" (พินอิน: Genzheng) มีชื่อแต่เด็กว่า "ซิงเอ๋อร์" (พินอิน: Xing’er) และพระนามที่พระพันปีหลวงฉือสี่ทรงใช้เมื่อทรงเข้ารับการศึกษาขณะทรงพระเยาว์มีว่า "ซิ่งเจิน" (จีน: 杏贞; พินอิน: Xìngzhēn)
บรรดามุขปาฐะที่แพร่หลายมากที่สุดว่า พระพันปีหลวงฉือสี่ทรงเป็นชาวแคว้นแยงซีก็มี, ว่าทรงเป็นชาวเมืองชางจื่อ (พินอิน: Changzhi) ก็มี, ว่าทรงเป็นชาวมณฑลชานซีก็มี (ฉบับนี้ว่าครอบครัวของพระพันปีหลวงฉือสี่เป็นชาวฮั่นที่เข้ารีตเป็นแมนจูด้วย), ว่าทรงเป็นชาวเมืองฮูฮอตก็มี, ว่าทรงเป็นชาวมองโกเลียในก็มี และว่าทรงเป็นชาวกรุงปักกิ่งก็มี ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าทรงใช้ชีวิตขณะทรงพระเยาว์ที่มณฑลอันฮุย และย้ายรกรากไปกรุงปักกิ่งในระหว่างที่มีพระชนมายุได้สิบสามถึงสิบห้าพรรษาโดยประมาณ
หุ้ยเจิงนั้นรับราชการเป็นนายทหารประจำกองธงสีฟ้ารักษาชายแดน ณ มณฑลชานซี กองธงสีฟ้าเป็นกองธงหนึ่งในจำนวนแปดกองธงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ด้านการทหาร และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลอันฮุย แต่ถูกปลดจากราชการใน ค.ศ. 1853 หลังจากที่พระพันปีหลวงฉือสี่ได้ถวายตัวแก่ราชสำนักสองปี เนื่องจากหุ้ยเจิงเพิกเฉยหน้าที่ในการปราบกบฏไทเป ณ มณฑลอันฮุย และหนังสือบางเล่มกล่าวว่าในการนี้ หุ้ยเจิงต้องโทษประหารชีวิตและถูกตัดศีรษะด้วย
เดือนกันยายน ค.ศ. 1851 พระพันปีหลวงฉือสี่พร้อมด้วยเด็กสาวชาวแมนจูอีกหกสิบรายได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นพระสนมของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง พร้อมกับนางทาทาลา,นางเว่ยกียา ,นางหนิวฮูลู โดยประธานการคัดเลือกในครั้งนั้นคือ พระนางคังฉินไท่เฟยซึ่งเป็นพระมเหสีของจักรพรรดิเต้ากวงที่ดูแลวังหลัง โดยพระพันปีหลวงฉือสี่เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนจากจำนวนหกสิบรายนั้นที่ได้รับพระราชทานยศศักดิ์เป็นพระสนมจริง ๆ โดยได้รับตำแหน่ง "ซิ่วหฺนวี่" (จีน: 秀女; พินอิน: Xiùnǚ) มีความหมายตรงตัวว่า "นางงาม" และตำแหน่ง "พระมเหสีชั้น 5" ตามลำดับ ครั้นวันที่ 27 เมษายน ปีถัดมา ก็ประทานพระประสูติกาลพระโอรสพระนามว่า "ไจ้ฉุน" (พินอิน: Zaichun) พระโอรสนี้เป็นพระรัชทายาทเพียงหนึ่งเดียวของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงและต่อมาเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ รัชกาลถัดมา ครั้งนั้น โปรดให้เลื่อนตำแหน่งพระพันปีหลวงฉือสี่ขึ้นเป็น "พระมเหสีชั้น 4"[4] และเมื่อเจ้าฟ้าไจ้ฉุนมีพระชนม์หนึ่งพรรษา ก็โปรดพระราชทานชื่อใหม่ให้แก่พระพันปีหลวงฉือสี่ให้ใช้เป็นชื่อตัวว่า "อี้" (จีน: 懿; พินอิน: Yì, "ประเสริฐเลิศล้น") กับทั้งให้เลื่อนตำแหน่งพระพันปีหลวงฉือสี่ขึ้นเป็น "พระมเหสีชั้น 2" ซึ่งรองจากพระมเหสีชั้น 1 คือ สมเด็จพระอัครมเหสีเจิน (จีน: 贞皇后; พินอิน: Zhēnhuánghòu, เจินหวงโฮ่ว)
การสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1860 กองทหารผสมของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส โดยการบังคับบัญชาของเอิร์ลเจมส์ บรูซ (อังกฤษ: James Bruce) เข้าโจมตีกรุงปักกิ่งโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากสงครามฝิ่น และในเดือนถัดมากองผสมก็สามารถยึดกรุงได้และเผาทำลายหมู่พระราชวังฤดูร้อนจนย่อยยับ ทั้งนี้ เพื่อตอบโต้จีนที่ได้สั่งให้จับกุม คุมขัง และทรมานชาวต่างชาติทั้งปวงในจักรวรรดิ นักโทษคนสำคัญคือ แฮร์รี พากส์ (อังกฤษ: Harry Parkes) ราชทูตอังกฤษ ระหว่างนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงได้เสด็จลี้ภัยพร้อมด้วยข้าราชการบริพารทั้งมวลจากกรุงปักกิ่งไปประทับยังพระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ (จีน: 承德; พินอิน: Chéngdé) มณฑลเหอเป่ย์ ฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อทรงรับทราบว่าหมู่พระราชวังอันวิจิตรและเป็นที่ทรงรักยิ่งพินาศลงสิ้น ก็ประชวรพระโรคสมองเสื่อม (อังกฤษ: dementia) และภาวะซึมเศร้า มีรับสั่งให้ถวายน้ำจันทน์และพระโอสถฝิ่นมิได้ขาดสาย ยังผลให้พระพลานามัยเสื่อมทรามลงตามลำดับ
วันที่ 22 สิงหาคม ปีถัดมา สมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จสวรรคต ณ พระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ ทั้งนี้ ก่อนจะสวรรคตได้ทรงเรียกประชุมรัฐมนตรีสำคัญจำนวนแปดท่าน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีซู่ชุ่น (จีน: 肃顺; พินอิน: Sùshùn) เป็นประธาน ไจ่หยวน (จีน: 載垣; พินอิน: Zǎiyuán) และตวนหวา (จีน: 端華; พินอิน: Duānhuá) เป็นรองประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและสนับสนุนสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ให้ขึ้นทรงราชย์โดยเรียบร้อย เนื่องจากขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าไจ้ฉุน พระรัชทายาท มีพระชันษาเพียงห้าพรรษาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระอัครมเหสีเจินและพระมเหสีชั้น 2 หรือพระพันปีหลวงฉือสี่ เฝ้าฯถึงพระบรรจถรณ์ และพระราชทานตราประทับให้ทั้งสองเพื่อให้ร่วมมือกันอภิบาลดูแลสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์น้อยทรงเจริญพระชันษาขึ้นอย่างทรงมีพระวัยวุฒิและคุณวุฒิ นอกจากนี้ ยังเพื่อเป็นการให้พระมเหสีทั้งสองคอยตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย
ภายหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงเสด็จสวรรคตแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระจักรพรรดิได้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยของพระชายาทั้งสอง โดยสมเด็จพระอัครมเหสีเจินในพระชนมายุยี่สิบห้าพรรษาเป็น "สมเด็จพระจักรพรรดินีฉืออัน พระพันปีหลวง" หรือที่รู้จักกันในไทยตามสำเนียงฮกเกี้ยนว่า "ซูอันไทเฮา" (จีน: 慈安皇太后; พินอิน: Cí’ān Tàihòu, ฉืออันไท่โฮ่ว; อังกฤษ: Empress Dowager Ci An) และพระพันปีหลวงฉือสี่ในตำแหน่งพระมเหสีชั้น 2 พระชันษายี่สิบเจ็ดชันษา เป็น "สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่ พระพันปีหลวง" หรือที่รู้จักกันในไทยตามสำเนียงฮกเกี้ยนว่า "ซูสีไทเฮา" (จีน: 慈禧太后; พินอิน: Cíxǐ Tàihòu; ฉือสี่ไท่โฮ่ว; อังกฤษ: Empress Dowager Ci Xi) ทั้งนี้ คำว่า "ฉืออัน" หมายความว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและความสงบ" ส่วน "ฉือสี่" ว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและโชค" นอกจากนี้ ในประเทศจีนยังนิยมเรียกพระพันปีหลวงทั้งสอง โดยพระพันปีหลวงฉืออันว่า "สมเด็จพระพันปีหลวงฟากตะวันออก" เนื่องจากมักประทับพระราชวังจงฉุยฟากตะวันออก (อังกฤษ: Eastern Zhong-cui Palace) และพระพันปีหลวงฉือสี่ว่า "สมเด็จพระพันปีหลวงฟากตะวันตก" เนื่องจากมักประทับพระราชวังฉือซิ่วฟากตะวันตก (อังกฤษ: Western Chuxiu Palace)
ขอบคุณพิเศษ วิกิพีเดีย